วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเขียนรายงานสอบสวนโรค




พอดีมีโอกาสได้เป็นอาจารย์ให้น้องๆนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่มาฝึกงานที่โรงพยาบาลคำเขื่อนแก้ว โดยคุณมด สมใจ เพียรธรรม หัวหน้างานระบาดวิทยา รพ.คำเขื่อนแก้วส่งมาเรียนรู้ เรื่องการเขียนรายงานการสอบสวนโรค เลยได้นำเอาความรู้ที่อาจารย์หยก อุบลรัตน์ นฤพนธ์จิรกุล ได้มาสอนและcomment ตอนที่ขึ้นเวที นำเสนอผลงานการสอบสวนโรค มาแลกเปลี่ยนกับน้องที่มา โดยใช้สถานที่เป็นห้องประชุมเล็ก สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว

สรุปสาระสำคัญดังนี้
การสอบสวนทางระบาดวิทยาของโรคหรือปัญหาสาธารณสุขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยหรือโรคไม่ติดต่อก็ตาม ขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวน ได้แก่ การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา เพื่อนำเสนอเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการดำเนินงานให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับผู้บริหารสาธารณสุขจนถึงผู้รับผิดชอบในระดับต่างๆ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนโรคควรให้ความสำคัญกับการเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า

วัตถุประสงค์ของการเขียนรายงานสอบสวน
1. เพื่อรายงานผลการสอบสวนทางระบาดวิทยา
2. เพื่อเสนอข้อคิดเห็นแก่ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องในระดับต่างๆ
3. เพื่อเป็นองค์ความรู้และแนวทางในการสอบสวนโรคครั้งต่อไป
4. เพื่อบันทึกเหตุการณ์ระบาดของโรคหรือปัญหาสาธารณสุขที่เกิดขึ้น

ประเภทของรายงาน
รายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา แบ่งตามลักษณะรายงานได้เป็น 3 ประเภท หลักๆ ดังนี้
1. รายงานการสอบสวนเสนอผู้บริหาร แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ รายงานการสอบสวนเบื้องต้น (Preliminary Report) และรายงานการสอบสวนสรุปเสนอผู้บริหาร (Final Report)
1.1 รายงานการสอบสวนเบื้องต้น (Preliminary Report) เป็นรายงานที่ผู้สอบสวนโรคจัดทำไว้เสนอต่อผู้บริหารงานสาธารณสุขโดยเร็ว เพื่อที่จะรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทันทีภายหลังจากที่ได้ทำการสอบสวนโรคจนได้ข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญๆ รายงานการสอบสวนเบื้องต้นมักจะประกอบด้วย 6 หัวข้อหลัก ได้แก่ ความเป็นมา ผลการสอบสวนที่เน้นประเด็นสำคัญๆที่พบในการสอบสวนโรค แนวโน้มของการระบาด กิจกรรมควบคุมโรคที่ได้ดำเนินไปแล้ว สรุปความสำคัญและเร่งด่วน และข้อเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ควรจะจัดทำทันทีเมื่อกลับมาจากการสอบสวนในพื้นที่ รายงานการสอบสวนเบื้องต้นอาจจะขาดความสมบูรณ์ในด้านเนื้อหา แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคให้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์โรคในขณะนั้น และความยาวของรายงานมักจะไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ
1.2 รายงานการสอบสวนสรุปเสนอผู้บริหาร (Final Report) เป็นรายงานการสอบสวนที่จัดทำขึ้นเพื่อเสนอต่อผู้บริหารสาธารณสุข เมื่อสิ้นสุดการสอบสวนโรคและเหตุการณ์นั้นแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปรายละเอียดผลการสอบสวนโรคให้ครบถ้วน และบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น รวมทั้งสัมฤทธิ์ผลจากการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคที่ได้ดำเนินการ ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำหรับใช้อ้างอิงต่อไป
2. รายงานการสอบสวนฉบับสมบูรณ์ (Full Report) เป็นรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาที่ผู้สอบสวนและทีมงานร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อสรุปรายละเอียดของผู้ป่วยหรือเหตุการณ์การระบาดของโรคที่ได้จากการสอบสวน รายงานประกอบด้วยชื่อเรื่อง ผู้รายงานและทีมสอบสวนโรค บทคัดย่อ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ วิธีการศึกษา ผลการสอบสวนโรค ตลอดจนกิจกรรมควบคุมป้องกันโรคต่างๆที่ได้ดำเนินการ ปัญหาและข้อจำกัดในการสอบสวน วิจารณ์ผล สรุปผล ข้อเสนอแนะ กิตติกรรมประกาศ และเอกสารอ้างอิงซึ่งรายงานฉบับสมบูรณ์นี้จะเป็นตัวชี้วัดผลงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานได้เป็นอย่างดี

3. รายงานบทความวิชาการ (Scientific Article) เป็นบทความวิชาการที่สามารถใช้เผยแพร่ผลการสอบสวนโรคในวงกว้าง ผู้สอบสวนโรคเขียนขึ้นเพื่อส่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งวารสารแต่ละฉบับมักจะมีรูปแบบการเขียนที่บังคับเฉพาะแตกต่างกันไปบ้าง มีประโยชน์อย่างมากในการเผยแพร่ผลงานวิชาการในวงกว้างและได้รับการอ้างอึงถึงบ่อยครั้ง

1. การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาเบื้องต้น


การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาเบื้องต้น เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของการเฝ้าระวังและสอบสวนทางระบาดวิทยา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อ หรือโรคไร้เชื้อ เช่น การบาดเจ็บ หรือโรคจากการประกอบอาชีพอื่นๆ เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการสอบสวนทางระบาดวิทยาควรจะเขียนรายงานการสอบสวนเบื้องต้น เสนอต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 24-48 ชั่วโมง ภายหลังกลับจากการสอบสวนในพื้นที่ เพื่อเป็นการแจ้งรายละเอียดให้กับผู้บริหารได้รับทราบและมีการดำเนินงานในขั้นต่อไป รายงานการสอบสวนเบื้องต้นมักมีความยาว 1-2 หน้ากระดาษ เอ 4
โดยทั่วไป ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วระดับอำเภอ จะมีบทบาทหน้าที่หลักในการสอบสวนเหตุการณ์สาธารณสุขที่สำคัญในระดับอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนโรคเฉพาะราย เช่น กรณีที่มีผู้ป่วยเพียงรายเดียว หรือเพียงไม่กี่ราย ไปจนกระทั่งเมื่อพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นและเข้าข่ายของการระบาด ก็จะนับเป็นการสอบสวนการระบาด อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งแม้จะมีผู้ป่วยเพียงรายเดียว ก็นับว่าเป็นการระบาดได้ ถ้าหากเป็นโรคอุบัติใหม่ หรือโรคที่มีความสำคัญทางสาธารณสุข
ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนโรคเฉพาะรายหรือการสอบสวนการระบาดของโรค ผู้สอบสวนโรคจะทำการเก็บข้อมูลรายละเอียดจากผู้ป่วยทุกๆราย ดังนั้น การเขียนรายงานการสอบสวนเบื้องต้นทั้ง 2 กรณี จึงใช้หลักการเดียวกัน แตกต่างเพียงที่รายงานการสอบสวนโรคเฉพาะราย สามารถบรรยายให้รายละเอียดข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละรายได้ครบถ้วน ในขณะที่รายงานการสอบสวนการระบาด จะสรุปรายละเอียดข้อมูลผู้ป่วยทุกราย นำเสนอเป็นภาพรวมของการระบาด

องค์ประกอบของรายงานการสอบสวนเบื้องต้น (Preliminary report)
1. ความเป็นมา
2. ผลการสอบสวน
3. กิจกรรมควบคุมโรคที่ดำเนินการแล้ว
4. แนวโน้มของการระบาด
5. สรุปความสำคัญทางสาธารณสุขและความเร่งด่วน
6. ข้อเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

1. ความเป็นมา
เป็นส่วนที่บอกถึงที่มาของการออกไปสอบสวนโรค เช่น เริ่มต้นได้รับแจ้งข่าวการเกิดโรคจากใคร หน่วยงานใด เมื่อไร และด้วยวิธีใด คณะที่ออกไปร่วมสอบสวนประกอบด้วยใครหรือหน่วยงานใดบ้าง เริ่มสอบสวนโรคตั้งแต่เมื่อไร และเสร็จสิ้นเมื่อไร สามารถระบุวัตถุประสงค์ในการสอบสวนโรคไว้ในส่วนนี้

2. ผลการสอบสวน
เป็นส่วนที่แสดงผลที่ได้จากการสอบสวนโรค หากเป็นการสอบสวนโรคเฉพาะราย ให้เขียนบรรยายรายละเอียดสำคัญๆของผู้ป่วย เช่น อาการ อาการแสดง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยโรค และการรักษา ข้อมูลส่วนบุคคล ประวัติการเดินทาง ประวัติสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยง หรือสาเหตุการเกิดโรค ในกรณีที่เป็นการสอบสวนการระบาดมีผู้ป่วยจำนวนหลายราย ให้นำข้อมูลผู้ป่วยมาเรียบเรียงและนำเสนอด้วยการแจกแจงตามตัวแปร บุคคล เวลา และสถานที่ ในบางเหตุการณ์ระบาด อาจนำเสนอกราฟเส้นโค้งการระบาด (Epidemic curve) ตามวันเริ่มป่วย หรือใช้แผนที่แสดงการกระจายของผู้ป่วยตามพื้นที่ หรือภาพถ่ายแนบมาในรายงานการสอบสวนด้วย

3. กิจกรรมควบคุมโรคที่ดำเนินการแล้ว
ให้ระบุรายละเอียดว่ากิจกรรมควบคุมโรคใดที่ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น การทำลายแหล่งรังโรค การรักษาผู้ติดเชื้อ การให้สุขศึกษากับประชาชนในพื้นที่เกิดโรค ตลอดจนถึงการเก็บวัตถุตัวอย่างส่งตรวจ การติดตามผู้สัมผัสโรค การเฝ้าระวังการระบาดต่อเนื่อง ถ้าหากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ให้ระบุว่าหน่วยงานใด ได้ดำเนินการในเรื่องใดไปบ้าง และกิจกรรมเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการควบคุมโรคในพื้นที่อย่างไรบ้าง

4. แนวโน้มของการระบาด
จากข้อมูลสถานการณ์โรคที่ได้จากการสอบสวนโรค ตลอดจนถึงประสิทธิผลของกิจกรรมควบคุมโรคที่ดำเนินการแล้ว ให้พยากรณ์แนวโน้มสถานการณ์ของการระบาดของโรค เช่น จำนวนผู้ป่วยกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ควบคุมสถานการณ์ได้ยาก หรือการระบาดกำลังสงบลง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่สามารถบอกแนวโน้มของการระบาดของโรคได้ เนื่องจากข้อมูลไม่เพียงพอ ควรบอกเหตุผลไว้ด้วย ข้อมูลในส่วนนี้มีความสำคัญต่อการทำงานของผู้บริหารสาธารณสุขในการตัดสินใจสั่งการ หรือให้การสนับสนุนการทำงาน

5. สรุปความสำคัญทางสาธารณสุขและความเร่งด่วน
จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสอบสวนทางระบาดวิทยา ให้สรุปสถานการณ์ ระบุขนาดของปัญหาและผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของประชาชน บอกให้ทราบว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ หรือเป็นการระบาดของโรคที่รู้จักอยู่แล้วใช่หรือไม่ มีความต้องการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาในทันทีหรือไม่ โดยอาจจะพิจารณาเรื่องระดับของผลกระทบทางด้านอื่นๆ เช่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ประกอบด้วย

6. ข้อเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ให้เสนอแนะแนวทางหรือมาตรการที่ใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคที่ควรจะต้องดำเนินงานต่อไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเดิมที่จะให้ทำต่อเนื่อง หรือมาตรการใหม่ๆ ในกรณีที่ต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานสาธารณสุขนอกพื้นที่ หรือหน่วยงานกระทรวงอื่นๆ ให้ระบุเรื่องที่ต้องประสานงานไว้ให้ชัดเจน

2. การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาสรุปเสนอผู้บริหาร

ใช้รูปแบบเดียวกันกับการเขียนรายงานการสอบสวน ฉบับสมบูรณ์ แต่ลดจำนวนองค์ประกอบลงให้
เหลือเพียงองค์ประกอบหลักๆ เท่านั้น ซึ่งผู้เขียนรายงานสามารถปรับเพิ่มได้ตามความเหมาะสม

องค์ประกอบของรายงานการสอบสวนสรุปเสนอผู้บริหาร (Final report)
1. ชื่อเรื่อง (Title)
2. ผู้รายงานและทีมสอบสวนโรค (Authors and investigation team)
3. บทนำหรือความเป็นมา (Introduction or Background)
4. วัตถุประสงค์ (Objectives)
5. วิธีการศึกษา (Methodology)
6. ผลการสอบสวน (Results)
7. มาตรการควบคุมและป้องกันโรค (Prevention and control measures)
8. สรุปผล (Conclusion)
ส่วนรายละเอียดของการเขียนรายงานสรุปเสนอผู้บริหาร ใช้วิธีการเช่นเดียวกับการเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา ฉบับสมบูรณ์
3. การเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา ฉบับสมบูรณ์



การเขียนรายงานการสอบสวน ฉบับสมบูรณ์ เป็นการบันทึกเรื่องราวของเหตุการณ์การระบาดของ
โรคและผลการสอบสวนโรค โดยใช้หลักการและรูปแบบการเขียน เช่นเดียวกับเอกสารวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั่วๆ ไป ซึ่งสามารถใช้เป็นผลงานวิชาการของเจ้าหน้าที่งานระบาดวิทยาได้อย่างดี

องค์ประกอบของรายงานการสอบสวน ฉบับสมบูรณ์ (Full report)
1. ชื่อเรื่อง (Title)
2. ผู้รายงานและทีมสอบสวนโรค (Authors and investigation team)
3. บทคัดย่อ (Abstract)
4. บทนำหรือความเป็นมา (Introduction or Background)
5. วัตถุประสงค์ (Objectives)
6. วิธีการศึกษา (Methodology)
7. ผลการสอบสวน (Results)
8. มาตรการควบคุมและป้องกันโรค (Prevention and control measures)
9. วิจารณ์ผล (Discussion)
10. ปัญหาและข้อจำกัดในการสอบสวน (Limitations)
11. สรุปผล (Conclusion)
12. ข้อเสนอแนะ (Recommendations)
13. กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgment)
14. เอกสารอ้างอิง (References)

1. ชื่อเรื่อง (Title)
เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของรายงาน ที่จะบอกให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นการสอบสวนทางระบาดวิทยาเรื่องอะไร เกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไร ควรเลือกใช้ข้อความที่สั้นกระชับ ตรงประเด็น ได้ความหมายครบถ้วน

2. ผู้รายงานและทีมสอบสวนโรค (Authors and investigation team)
ระบุชื่อ ตำแหน่งและหน่วยงานสังกัดของผู้รายงาน และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆที่ร่วมในทีมสอบสวนโรค

3. บทคัดย่อ (Abstract)
เป็นส่วนที่สรุปสาระสำคัญทั้งหมดของการระบาดหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความยาวประมาณ 250-350 คำ ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่ ชื่อผู้รายงานและหน่วยงาน ความเป็นมา วัตถุประสงค์ วิธีการศึกษา ผลการศึกษา มาตรการควบคุมโรค และสรุปผล

4. บทนำหรือความเป็นมา (Introduction or Background)
เป็นส่วนที่บอกถึงที่มาของการออกไปสอบสวนโรค เช่น การได้รับแจ้งข่าวการเกิดโรคจากใคร หน่วยงานใด เมื่อไร และด้วยวิธีใด คณะที่ออกไปร่วมสอบสวนประกอบด้วยใครหรือหน่วยงานใดบ้าง เริ่มสอบสวนโรคตั้งแต่เมื่อไร และเสร็จสิ้นเมื่อไร

5. วัตถุประสงค์ (Objectives)
เป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากในการเขียนรายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยา เพราะจะช่วยให้ผู้อ่านทราบในเบื้องต้นว่า ผู้สอบสวนโรคมีวัตถุประสงค์อะไรบ้างในการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดแนวทาง และขอบเขตของวิธีการศึกษาที่จะใช้ค้นหาคำตอบในการสอบสวน

6. วิธีการศึกษา (Methodology)
เป็นส่วนที่บอกถึงวิธีการที่ใช้ในการค้นหาความจริงและตอบวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ช่วยให้ผู้อ่านรู้ว่ามีวิธีการศึกษาอย่างไรบ้าง ในรูปแบบการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา ให้นิยามผู้ป่วยอย่างไร มีเครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์อะไรบ้างที่ใช้ในการหาคำตอบ ได้มีการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์เพื่อตอบสมมติฐานด้วยหรือไม่ ถ้ามีเป็นรูปแบบการศึกษาใด มีการศึกษาทางสภาพแวดล้อมหรือไม่ และมีการเก็บวัตถุตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างไร รวมทั้งให้บอกวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

7. ผลการสอบสวน (Results)
เป็นส่วนที่แสดงผลที่ได้จากการสอบสวนโรคทั้งหมด ข้อมูลจะถูกนำมาเรียบเรียงผลการศึกษาตามตัวแปร บุคคล เวลา และสถานที่ อาจจะใช้รูปแบบการนำเสนอด้วยตาราง กราฟ แผนภูมิ ตามความเหมาะสม โดยการเสนอผลการสอบสวน ต้องเขียนให้สอดคล้องกับวิธีการศึกษาและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ รายละเอียดและแนวทางการเขียนผลการสอบสวน มีดังนี้
1. ยืนยันการวินิจฉัยโรค แสดงข้อมูลให้ทราบว่ามีการเกิดโรคจริง โดยอาศัยผลการวินิจฉัยของแพทย์ ประกอบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ อาจใช้อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยเป็นหลักในโรคที่ยังไม่ได้รับการยืนยันการวินิจฉัย เช่น ถ้าเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่

2. ยืนยันการระบาด ในกรณีที่มีการระบาดของโรค ต้องแสดงข้อมูลให้ผู้อ่านเห็นว่ามีการระบาด (Outbreak) เกิดขึ้นจริง มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากกว่าปกติเท่าไร โดยแสดงตัวเลขจำนวนผู้ป่วยหรืออัตราป่วยที่คำนวณได้ ส่วนในกรณีที่เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease) ให้แสดงข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยในเวลานี้ เปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในปีที่ผ่านๆมา ในระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจจะใช้ค่า Median 3-5 ปี ย้อนหลัง หรือข้อมูลจากปีที่ผ่านมา แล้วแต่ความเหมาะสมในแต่ละกรณี

3. ข้อมูลทั่วไป เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นสภาพทั่วไปของพื้นที่เกิดโรค ในด้านต่างๆ ประกอบด้วย
- ข้อมูลประชากร เช่น จำนวนประชากรแยกเพศ กลุ่มอายุ หรืออาชีพ
- ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เกิดโรค
- การคมนาคม และพื้นที่ติดต่อที่มีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรค
- ข้อมูลเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่ที่มีผลต่อการเกิดโรค
- ข้อมูลทางสุขาภิบาล สาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อม

4. ผลการศึกษาทางระบาดวิทยา
4.1 ระบาดวิทยาเชิงพรรณนา เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการเกิดโรคและการกระจายของโรค ทางระบาดวิทยา ได้แก่
- ลักษณะการกระจายของโรคตามลักษณะบุคคล ระบุกลุ่มอายุ เพศ หรืออาชีพที่มีอัตราป่วยสูงสุด ต่ำสุด และกลุ่มใดที่พบว่าเกิดโรคมากที่สุด และแสดงอัตราป่วยที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่มผู้ป่วย (Attack rate)
- ลักษณะการกระจายตามเวลา แสดงระยะเวลาของการเกิดโรคตั้งแต่รายแรกถึงรายสุดท้ายตามวันที่เริ่มป่วย ประมาณระยะฟักตัวของโรคจาก Epidemic curve อธิบายลักษณะการเกิดโรคว่าเป็นการระบาดแบบใด เช่น แหล่งโรคร่วมหรือแหล่งโรคแพร่กระจาย
- ลักษณะการกระจายตามสถานที่ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของการเกิดโรคในแต่ละพื้นที่ ในรูปของ Attack Rate ตัวอย่างเช่น อัตราป่วยจำแนกตามชั้นเรียน หรือจำแนกตามหมู่บ้าน รวมถึงการจัดทำ Spot map แสดงการกระจายของผู้ป่วยตามพื้นที่ เป็นการแสดงจุดที่เกิดผู้ป่วยรายแรก (index case) และผู้ป่วยรายต่อๆมา ที่แยกสีตามระยะเวลาก็ได้
4.2 ระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ เป็นส่วนที่แสดงผลการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ โดยนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อตอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ เช่น
- การทดสอบปัจจัยที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรค โดยนำเสนอผลการวิเคราะห์ในตาราง หาค่าความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่มคนที่ป่วยและไม่ป่วยด้วยค่า Relative Risk หรือ Odds Ratio และค่าความเชื่อมั่น 95% (95% Confidence interval)
- การทดสอบทางสถิติ เพื่อดูว่าอัตราป่วยในกลุ่มคนที่ได้รับและไม่ได้รับปัจจัยที่สงสัยจะเป็นสาเหตุของโรค มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ โดยใช้ Chi-Square test

5. ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นส่วนที่แสดงให้ทราบว่าในการสอบสวนครั้งนี้ ได้เก็บตัวอย่างอะไรส่งตรวจ เก็บจากใครบ้าง จำนวนกี่ราย และได้ผลการตรวจเป็นอย่างไร แสดงสัดส่วนของการตรวจที่ได้ผลบวกเป็นร้อยละ โดยจำแนกเป็น การเก็บตัวอย่างจากคน เช่น การเก็บ Rectal swab, Throat swab, Serum และการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากสิ่งแวดล้อม เช่น ตัวอย่างอาหาร น้ำ หรือวัสดุอื่นๆ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

6. ผลการศึกษาสภาพแวดล้อม เป็นส่วนที่จะอธิบายเหตุการณ์แวดล้อมที่มีความสำคัญต่อการระบาดของโรค อาทิเช่น สภาพของโรงครัว แหล่งน้ำ ส้วม รายละเอียดขั้นตอนและกรรมวิธีการปรุงอาหาร มีขั้นตอนโดยละเอียดอย่างไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง

7. ผลการเฝ้าระวังโรค เพื่อให้ทราบว่าสถานการณ์ระบาดได้ยุติลงจริงหรือไม่ จึงควรที่จะได้ทำการเฝ้าระวังโรคต่ออีกเป็นระยะเวลา 2 เท่าของระยะฟักตัวของโรค เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นอีก

8. มาตรการควบคุมและป้องกันโรค (Prevention and control measures)
ให้ระบุรายละเอียดว่ามีมาตรการควบคุมและป้องกันโรคอะไรบ้างที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาตรการใดที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ และมาตรการใดที่เตรียมจะดำเนินการต่อไปในภายหน้า

9. วิจารณ์ผล (Discussion)
เป็นส่วนที่ผู้สอบสวนโรคจะวิจารณ์ผลการสอบสวนโรคที่ได้ทำ โดยใช้ความรู้ที่ค้นคว้าเพิ่มเติมมาอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วิเคราะห์หาเหตุผลและสมมติฐานในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังอาจชี้ให้เห็นว่าการระบาดในครั้งนี้แตกต่างหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับการระบาดในอดีตหรือไม่ อย่างไร

10. ปัญหาและข้อจำกัดในการสอบสวน (Limitations)
การสอบสวนโรคครั้งนี้มีปัญหาอะไรบ้าง ที่ทำให้เป็นอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการสอบสวนโรค ส่งผลให้ไม่สามารถตอบวัตถุประสงค์ได้ตามต้องการ ควรเขียนออกมาเป็นข้อๆ พร้อมทั้งบอกแนวทางการแก้ไขปัญหาในแต่ละข้อ เพราะจะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่จะทำการสอบสวนทางระบาดวิทยาของโรคเดียวกันนี้ในครั้งต่อไป

11. สรุปผลการสอบสวน (Conclusion)
เป็นการสรุปสาระสำคัญที่ค้นพบจริงจากการสอบสวนทางระบาดวิทยา เป็นการสรุปรวบยอดเพื่อตอบวัตถุประสงค์และสมมติฐานที่ตั้งไว้ อธิบายถึงความสัมพันธ์ของการเกิดโรคตามบุคคล เวลา สถานที่ โดยทั่วๆ ไป การสรุปผลการสอบสวนควรจะตอบคำถามในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- Etiologic agent ในการเกิดโรคคืออะไร โดยใช้อาการแสดง อาการของโรค และรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระยะฟักตัว หรือ Epidemic curve
- Source of infection คืออะไร บางโรคอาจหาได้ หรือบางโรคอาจหาไม่ได้ ถ้าไม่สามารถค้นหาได้ควรจะบอกในรายงานด้วย
- Mode of transmission ระบุลักษณะการถ่ายทอดโรคว่าเป็นอย่างไร
- High risk group กลุ่มประชากรที่เสี่ยง คือกลุ่มใด
- Risk factor ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมีอะไรบ้าง
- Current situation สถานการณ์ของโรคหรือเหตุการณ์ สงบเรียบร้อย หรือระบาดซ้ำ

12. ข้อเสนอแนะ (Recommendations)
ข้อเสนอแนะที่ผู้สอบสวนและทีมงาน เสนอแนะต่อหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการสอบสวนโรคในครั้งนี้ อาจจะเป็นข้อเสนอในเรื่องมาตรการควบคุมป้องกันการเกิดโรคในเหตุการณ์ครั้งนี้ หรือแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในอนาคต หรือเป็นเข้อเสนอแนะที่จะช่วยทำให้การสอบสวนโรคมีประสิทธิภาพได้ผลดีมากขึ้น

13. กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgment)
ให้กล่าวขอบคุณบุคคลหรือหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการสอบสวนโรค และให้การสนับสนุนด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตลอดจนผู้ที่ให้ข้อมูลอื่นๆ ประกอบการทำงานสอบสวนโรคหรือเขียนรายงาน ซึ่งรายชื่อที่ปรากฏในส่วนของกิตติกรรมประกาศ จะไม่ซ้ำกับชื่อที่อยู่ในส่วนของทีมสอบสวนโรค

14. เอกสารอ้างอิง (References)
โดยทั่วไปเมื่อมีการค้นคว้าหาข้อมูลทางวิชาการจากเอกสารทางการแพทย์หรือวารสารวิชาการต่างๆ เพื่อประกอบการเขียนรายงาน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนการวิจารณ์ผลหรือเนื้อหาส่วนอื่นก็ตาม ควรจะต้องทำการอ้างอิงชื่อผู้เขียน ชื่อบทความ ชื่อเอกสารนั้นและรายละเอียดอื่นๆ มาแสดงไว้ในส่วนเอกสารอ้างอิง เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจสามารถไปศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมต่อไปได้ ปัจจุบัน รูปแบบการเขียนเอกสารอ้างอิงที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในงานเขียนเอกสารวิชาการทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ การอ้างอิงแบบแวนคูเวอร์ (Vancouver style)

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเขียนรายงาน
1. ผู้เขียนได้รับความรู้เพิ่มเติมจากการทบทวนความรู้จากหนังสือ เอกสาร วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสังเคราะห์ความรู้จากเหตุการณ์และกิจกรรมที่ดำเนินการในขณะทำการสอบสวน
2. ผู้บริหารสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด และสามารถนำข้อมูลจากการสอบสวนโรค ไปวางแผนเพื่อควบคุมและป้องกันโรคต่อไป
3. ผู้อ่านที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับงานระบาดวิทยาได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องการสอบสวนทางระบาดวิทยาเพิ่มขึ้น
4. ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของการสอบสวนทางระบาดวิทยาในประเทศไทย



วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กลับบ้านเยี่ยมพ่อ


คลิ๊กที่รูปนี้ เพื้อดูรูปทั้งหมดครับ


ช่วงนี้ พอดีมีวันหยุดยาวหลายวัน เลยได้โอกาสพาเด็กๆกลับไปเยี่ยมปู่ ที่บ้านพอก ต.คำไผ่ อ.ไทยเจริญ จ.ยโสธร ซึ่งคุณปู่ทองคำ วิริยะพันธ์ ก็มีมะพร้าวนำหอมซึ่งเป็นของชอบของเด็กๆ ไว้ให้หลานๆได้กินซะจนพุงกางเลย

ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้กลับบ้านบ่อยๆ บางที่ปีนึงกลับบ้านไม่ถึง 3 ครั้ง คงต้องพยามกลับไปให้กำลังใจคุณพ่อบ่อยๆ ปีนี้ก็จะอายุ 84 แล้ว โชคดีที่ท่านชอบเข้าวัดเข้าวาเลยทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดี ได้เห็นหลานๆ ก็มีความสุขมากขึ้นแม้ชั่วคราวก็ยังดี

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

R506 กับ windows7

เนื่องจากโปรแกรมระบาดวิทยา R506 ที่ใช้กันแพร่หลายมีปัญหาไม่สามารถใช้งานได้ดีใน Windows 7
วิธีแก้คือ ยกเลิกหรือปิด User Account Control (UAC) ใน Windows 7
วิธีทำมี 4 วิธีดังนี้ครับ
1. ไปที่ Start Menu > Control Panel > User Accounts and Family Safety > User Account > User Account Control Setting หรือ
2. ไปที่ Start Menu > Control Panel > System and Security > Action Center > User Account Control Setting หรือ
3. คลิกหรือคลิกขวาที่ธงไอคอนที่ Task Bar แล้วเปิด Action Center หรือ
4. ไปที่ Start Menu พิมพ์ MsConfig ใน Start Search เพื่อเปิด System Configuration จากนั้นไปที่แท็บ Tools คลิกเลือก Change UAC Settings แล้วคลิกที่ปุ่ม Launch

เมื่อทำวิธีใดวิธีหนึ่งใน 4 วิธี ก็จะปรากฎ User Account Control Setting ออกมา ให้ทำการเลื่อนแถบเลื่อนไปยังค่าต่ำสุด แล้วคลิก OK รีสตาร์ทเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อปิดการใช้ User Account Control

ขอบคุณที่มา http://kongchoy.blogspot.com/2010/06/user-account-control-uac-windows-7.html

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

รูป นำเสนอรายงานการสอบสวนโรค ที่ระยอง


รูป นำเสนอรายงานการสนอรายงานการสอบสวนโรคของสำนักงานควบคุมโรคที่ 7 จัด ที่ จ.ระยอง คลิ๊กที่รูปนะครับ ดูทั้งอัลบั้ม

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วารสารสุขศาลา ทำรายงานพิเศษ ที่คำเขื่อนแก้ว

วันนี้นับเป็นความโชคดีของผมที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมทีมไปกับ ท่านวิทยา เพชรรัตน์ สสอ.คำเขื่อนแก้ว และอาจารย์คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล แห่งวารสารสุขศาลาที่มาทำรายงานพิเศษเรื่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว ที่จริงแล้วอาจารย์คมส์ธนนท์ มาตั้งแต่เมื่อวานแล้วและไปที่ รพสต.นาเวียง และ รพสต.ดงแคนใหญ่

เริ่มแรกที่ รพสต.นาเวียง มีจุดเด่นเรื่อง สถานบริการลดโลกร้อน โดยมีคุณเครือวัลย์ คนชม เป็นหัวหน้าสถานบริการ ซึ่งต้องยอมรับในแนวคิดที่ฉีกแนว นอกกรอบ เพื่อป้องกัน รักษาโลกและโรค มีใครที่ไหนที่คิดจะเลี้ยงไส้เดือนเพื่อ ย่อยสลายขยะ แถมยังเอาปัสสาวะไส้เดือนมาทำปุ๋ย สำหรับบำรุงพืชผักสวนครัวอีกด้วย






ส่วนวันนี้ เริ่มที่ รพสต.แคนน้อย ซึ่งโดดเด่นในเรื่อง โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น โครงการบุญประเพณีปลอดเหล้า โครงการชมรมคนรักษ์ปอด และชมรมทูบีนัมเบอร์วัน ซึ่งมีรางวัลระดับประเทศ ระดับเขตมากมาย จนไม่มีที่จะเก็บโล่รางวัลแล้วละมั้ง...วันที่ไปก็มีทีมงานเจ้าหน้าที่อยูกันครบทุกคน โดยมีคุณมนัชยา กองทำ ผอ.รพ.สต.แคนน้อย และ อสม.เป็นผู้ร่วมให้ข้อมูล







และที่ รพ.สต.ดงแคนใหญ่ ซึ่งเป็นต้นแบบในเรื่องของโรงพยาบาลตำบล ชนะเลิศสถานีอนามัยระดับประเทศ ในปี 2551 จนถึงทุกวันนี้ พัฒนาการของโรงพยาบาลตำบลดงแคนใหญ่ ยิ่งมีมากขึ้นกว่าเดิม ความเข้มแข็งของกองทุนโรงพยาบาลตำบล ความมีมาตรฐานในงานรักษาพยาบาลและวิชาการ ส่งผลให้โรงพยาบาลตำบลดงแคนใหญ่ มีผู้มาศึกษาดูงานตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา วันนี้ผู้ให้ข้อมูลเป็น คุณบัณดิษฐ์ สร้อยจักร เนื่อง ผอ.รพ.สต. มีธุระ จึงไม่ได้อยู่ วันนี้มีน้องๆนักศึกษาจาก ม.ราชภัฏ อุบลราชธานี ซึ่งมาฝึกงานที่ รพ.สต.ดงแคนใหญ่ จำนวน 8 ท่าน มาร่วมต้อนรับคณะด้วย


ปิดท้ายด้วย การไปที่ รพ.สต.สงเปือย ซึ่งพลิกโฉม ทั้งสถานบริการและบุคลากร ซึ่งสถานบริการแห่งนี้ ต้องยอมรับว่ามีการพัฒนาการที่รวดเร็วมาก ผอ.รพ.สต.สงเปือย คุณป้อมเพชร สืบสอน เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของการพัฒนาสถานบริการแห่งนี้ ซึ่งวันนี้พี่ป้อมพูดได้ยอดเยี่ยมมาก คงเพราะงานทุกอย่างทำมากับมือ คำพูดประโยคหนึ่งที่ว่า "เหนื่อยแค่ไหน ก็มีความสุข ที่ได้เห็นพี่น้องเรามีความสุข มีที่พึ่ง ไม่เจ็บป่วย" ช่างเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภารกิจของนักสาธารณสุข ที่เราต้องมีหน้าที่ป้องกันการเจ็บป่วย(Illness Prevention)ของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้



ต้องขอชอบคุณ อาจารย์คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล แห่งวารสารสุขศาลา ที่ได้ให้เกียรติ กับทีมสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว ได้มีโอกาสได้เล่าสิ่งดีๆ เพื่อแลกเปลี่ยนในการพัฒนา และขอบคุณ รพ.สต.ที่เป็นตัวแทนในการให้ข้อมูล ตลอดจนให้การต้อนรับ เป็นอย่างดีครับ



วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สุขศึกษา(Health Education)

สุขศึกษา(Health Education)
พอดีวันนี้เรียนเรื่อง ทฤษฎีในการ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็เลยเขียนไว้เผื่อมีคนได้เอาไปใช้ สักทฤษฎีก่อน
แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model)
แนวคิดของทฤษฎีนี้เริ่มแรกสร้างขึ้นจากทฤษฎีเกี่ยวกับ “อวกาศของชีวิต” (Life Space) ซึ่งได้คิดขึ้นครั้งแรกโดยนักจิตวิทยา Kurt Lewin ซึ่งมีสมมติฐานว่าบุคคลจะหันเหตนเองไปสู่พื้นที่ที่บุคคลให้ค่านิยมเชิงบวกและขณะเดียวกันจะหลีกเลี่ยงจากพื้นที่ที่มีค่านิยมเชิงลบ อธิบายได้ว่า บุคคลจะแสวงหาแนวทางเพื่อจะปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อการป้องกันและฟื้นฟูสภาพตราบเท่าที่การปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าเชิงบวกมากกว่าความยากลำบากที่จะเกิดขึ้น จากการปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวบุคคลจะต้องมีความรู้สึกกลัวต่อโรคหรือรู้สึกว่าโรคคุกคามตน และจะต้องมีความรู้สึกว่าตนเองมีพลังที่จะต่อต้านโรคได้ (ประภาเพ็ญ สุวรรณ, สวิงสุวรรณ, 2536) ซึ่งต่อมาโรเซนสต๊อกได้สรุป องค์ประกอบพื้น ฐานของแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพไว้คือ การรับรู้ของบุคคลและแรงจูงใจ การที่บุคคลจะมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงจากการเป็นโรคจะต้องมีความเชื่อว่า เขามีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค โรคนั้นมีความรุนแรงและมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต รวมทั้งการปฏิบัตินั้นจะเกิดผลดีในการลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหรือช่วยลดความรุนแรงของโรค โดยไม่ควรมีอุปสรรคด้านจิตวิทยามาเกี่ยวข้อ ง เช่น ค่าใช้จ่าย ความไม่สะดวกสบาย ความเจ็บป่วยและความอาย เป็นต้น (Rosenstock, 1974) ต่อมาเบคเกอร์ (Becker, 1974) เป็นผู้ปรับปรุงแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพเพื่อนำมาใช้อธิบายและทำนายพฤติกรรมการป้องกันและพฤติกรรมอื่นๆ โดยเพิ่มปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากการรับรู้ของบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติในการป้องกันโรค ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
3.2.1 การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเป็นโรค (Perceived Susceptibility)การรับรู้ต่อโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรค หมายถึง ความเชื่อของบุคคลที่มีผลโดยตรงต่อการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะเจ็บป่วย แต่ละบุคคลจะมีความเชื่อในระดับที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงหลีกเลี่ยงต่อการเป็นโรคด้วยการปฏิบัติตามเพื่อป้องกันและรักษาสุขภาพที่แตกต่างกันจึงเป็นความเชื่อของบุคคลต่อความถูกต้องของการวินิจฉัยโรคของแพทย์ การคาดคะเนถึงโอกาสของการเกิดโรคซ้ำหรือการง่ายที่จะป่วยเป็นโรคต่างๆ มีรายงานการวิจัยหลายเรื่องที่ให้การสนับสนุนความเชื่อต่อโอกาสเสี่ยงของการเป็นโรคว่ามีความสัมพันธ์ในทางบวกกับพฤติกรรมการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เช่นเมื่อบุคคลป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่ง ความรู้สึกของบุคคลที่ว่าตนเองจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนั้นๆอีกจะมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ การปฏิบัติพฤติกรรมเพื่อป้องกันโรคไม่ให้เกิดกับตนเองอีก (Heinze, 1962; Elling et al.,1960)
3.2.2 การรับรู้ความรุนแรงของโรค (Perceived Severity)เป็นการประเมินการรับรู้ความรุนแรงของโรค ปัญหาสุขภาพหรือผลกระทบจากการเกิดโรคซึ่งก่อให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิต การประเมินความรุนแรงนั้นอาศัยระดับต่างๆของการกระตุ้นเร้าของบุคคลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยนั้น ซึ่งอาจจะมองความรุนแรงของการเจ็บป่วยนั้นทำให้เกิดความพิการหรือตายได้หรือไม่หรืออาจมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน เมื่อบุคคลเกิดการรับรู้ความรุนแรงของโรคหรือการเจ็บป่วยแล้วจะมีผลทำ ให้บุคคลปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อการป้องกันโรค ซึ่ง จากผลการวิจัยจำนวนมากพบว่า การรับรู้ความรุนแรงของโรคมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับพฤติกรรมการป้องกันโรค เช่น การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
3.2.3 การรับรู้ถึงประโยชน์ของการรักษาและป้องกันโรค (Perceived Benefits)การรับรู้ถึงประโยชน์ของการรักษาและป้องกันโรค หมายถึง การที่บุคคลแสวงหาวิธีการปฏิบัติให้หายจากโรคหรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคโดยการปฏิบัตินั้นต้องมีความเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ดีมีประโยชน์และเหมาะสมที่จะทำให้หายหรือไม่เป็นโรคนั้นๆ ดังนั้นการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำก็ขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบถึงข้อดีและข้อเสียของพฤติกรรมนั้นโดยเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย
3.2.4 การรับรู้ต่ออุปสรรค (Perceived Barriers)การรับรู้ต่ออุปสรรคของการปฏิบัติ หมายถึง การคาดการณ์ล่วงหน้าของบุคคลต่อการปฏิบัติพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของบุคคลในทางลบ ซึ่งอาจได้แก่ ค่าใช้จ่าย หรือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติกิจกรรมบางอย่าง เช่น การตรวจเลือดหรือการตรวจพิเศษทำให้เกิดความไม่สุขสบาย การมารับบริการหรือพฤติกรรมอนามัยนั้นขัดกับอาชีพหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นการรับรู้อุปสรรคเป็นปัจจัยสำคัญต่อพฤติกรรมการป้องกันโรค และพฤติกรรมของผู้ป่วยนี้สามารถใช้ทำนายพฤติกรรมการให้ความร่วมมือในการรักษาโรคได้
3.2.5 สิ่งชักนำให้เกิดการปฏิบัติ (Cues to Action)สิ่งชักนำให้เกิดการปฏิบัติเป็นเหตุการณ์หรือสิ่งที่มากระตุ้นบุคคลให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการออกมา ซึ่ง Becker, Maiman (1975) ได้กล่าวว่า เพื่อให้แบบแผนความเชื่อมีความสมบูรณ์นั้นจะต้องพิจารณาถึงสิ่งชักนำให้เกิดการปฏิบัติซึ่งมี 2 ด้าน คือ สิ่งชักนำภายในหรือสิ่งกระตุ้นภายใน (Internal Cues)ได้แก่ การรับรู้สภาวะของร่างกายตนเอง เช่น อาการของโรคหรือ การเจ็บป่วย ส่วนสิ่งชักนำภายนอกหรือสิ่งกระตุ้นภายนอก (External Cues) ได้แก่ การให้ข่าวสารผ่านทางสื่อมวลชนหรือการเตือนจากบุคคลที่เป็นที่รักหรือนับถือ เช่น สามี ภรรยา บิดา มารดา เป็นต้น
3.2.6 ปัจจัยร่วม (Modifying Factors)ปัจจัยร่วม เป็นปัจจัยที่ไม่มีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมสุขภาพ แต่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะส่งผลไปถึงการรับรู้และการปฏิบัติ ได้แก่
3.2.6.1 ปัจจัย ด้านประชากร เช่น อายุ ระดับการศึกษา เป็นต้น
3.2.6.2 ปัจจัยทางด้านสังคมจิตวิทยา เช่น บุคลิกภาพ สถานภาพทางสังคม กลุ่มเพื่อนกลุ่มอ้างอิง มีความเกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานทางสังคม ค่านิยมทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานทำให้เกิดการปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคที่แตกต่างกัน
3.2.6.3 ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ความรู้เรื่องโรค ประสบการณ์เกี่ยวกับโรค เป็นต้น
3.2.7. แรงจูงใจด้านสุขภาพ (Health Motivation)แรงจูงใจด้านสุขภาพ หมายถึง สภาพอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการถูกกระตุ้นด้วยเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย ได้แก่ ระดับความสนใจ ความใส่ใจ ทัศนคติและค่านิยมทางด้านสุขภาพ เป็นต้น


ขอบคุณที่มา http://gotoknow.org/blog/benbenblogtheory/115420

การนำไปใช้ในงานวิจัย
เนื่องจากการใช้ทฤษฎีเดียว ในการวิจัย จะขาดความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข้อมูล เราควรที่จะมีทฤษฎีอื่นๆที่มีความสอดคล้องกัน เข้ามาเป็นทฤษฎีรองก็ได้ ส่วนการสร้างตัวแปรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการประเมินทฤษฎีรองด้วยหรือไม่ หากต้องการก็ใส่ตัวแปรของทฤษฎีรองและใส่กิจกรรมลงไปด้วย และตั้งวัตถุประสงค์แยกเป็นอีกข้อเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ แต่โดยส่วนใหญ่นิยมประเมินเฉพาะทฤษฎีหลัก
ตัวอย่างการสร้างกรอบแนวคิดการวิจัย
ตัวแปรต้น
โปรแกรมการประยุกต์ใช้ แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม ในการรักษาโรควัณโรค
  • การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเป็นโรค (Perceived Susceptibility)

กิจกรรม การบรรยายประกอบสไลด์ วีดีโอเทป โปสเตอร์ ป้ายนิเทศ

  • การรับรู้ความรุนแรงของโรค (Perceived Severity)

กิจกรรม การนำเสนอตัวอย่าง การบรรยายประกอบสไลด์ วีดีโอเทป

  • การรับรู้ถึงประโยชน์ของการรักษาและป้องกันโรค (Perceived Benefits)

กิจกรรม การนำเสนอตัวอย่าง การบรรยายประกอบสไลด์ วีดีโอเทป อภิปรายกลุ่ม

  • การรับรู้ต่ออุปสรรค (Perceived Barriers)

กิจกรรม การนำเสนอตัวอย่าง อภิปรายกลุ่ม

  • แรงสนับสนุนทางสังคม

กิจกรรม การเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่ร่วมกับผู้นำชุมชน การประชาสัมพันธ์หอกระจายข่าว

v

V

ตัวแปรตาม
พฤติกรรมตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพร่วมกับแรงสนับสนุนทางสังคม ในการรักษาโรควัณโรค

  • การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเป็นโรค (Perceived Susceptibility)
  • การรับรู้ความรุนแรงของโรค (Perceived Severity)
  • การรับรู้ถึงประโยชน์ของการรักษาและป้องกันโรค (Perceived Benefits)
  • การรับรู้ต่ออุปสรรค (Perceived Barriers)
  • แรงสนับสนุนทางสังคม

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สอบสวนเห็ดพิษ

























วันนี้ต้องตื่นแต่เช้า เพราะนัดกับพี่บุญทศ ประจำถิ่น เจ้าหน้าที่สอ.ดงเจริญ เพื่อที่ออกไปเก็บตัวอย่างเห็ดส่งตรวจ จากกรณีมีชาวบ้านกินเห็ดแล้วเสียชีวิต 1 ราย
หลังจากเตรียมอุปกรณ์พร้อมเราก็เข้าป่าหาเห็ดที่ได้มาจากการสอบสวนภรรยาผู้ตายบอกไว้ชื่อภาษาอีสาน คือ เห็ดผึ้งอีตู๋ ภาคกลางน่าจะเรียก เห็ดตับเต่า
ต้องขอขอบคุณ คุณอาณัติ ศรีเทา หัวหน้าสถานีอนามัยดงเจริญ
คุณพี่แขก จรรยา ดวงแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สสจ.ยโสธร และทีมงาน พี่แมน แสนภักดิ์ คุณปรีชา ลากวงษ์ คุณศรีไพร ที่ออกมาช่วยงานครั้งนี้ และดำเนินการส่งเห็ดไปตรวจ





แนวทางการเก็บตัวอย่างเห็ดพิษส่งตรวจ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค


  1. ควรเก็บจากแหล่งหรือพื้นที่เดียวกันกับที่ผู้ป่วยเก็บมารับประทาน

  2. เลือกเก็บดอกที่สมบูรณ์ ดอกยังไม่ช้ำและมีทั้งก้านดอกและราก

  3. ก่อนเก็บเห็ด ควรถ่ายภาพเห็ดไว้ เพื่อประกอบในการพิจารณา ชนิดของเห็ด โดยมีขั้นตอนดังนี้
    3.1 ถ่ายภาพแบบธรรมชาติ
    3.2 กวาดเศษขยะรอบฯ ต้นเห็ดออก แล้วถ่ายภาพด้านบนดอก ด้านใต้ดอก
    และด้านข้างดอก ทั้ง สี่ด้าน และควรมีสเกลบอกความกว้างความยาวของเห็ด แล้วจึงลงมือเก็บ โดยขุดให้ห่างจากลำต้นพอประมาณให้ได้รากด้วย หลังจากนั้นควรปักป้ายเตือนไม่ให้มีการเก็บเห็ดในบริเวณนั้นไปรับประทาน
  4. การนำส่งตรวจ เห็ดที่ส่งตรวจควรมีสภาพสมบูรณ์ มีดอก ลำต้นและราก และขณะนำส่งต้องรักษาสภาพของดอกไม่ให้ช้ำและเน่า โดยห่อดอกเห็ดด้วยกระดาษ ( การห่อด้วยกระดาษจะช่วยไม่ให้ภายในห่อมีความชื้น ซึ่งจะทำให้เห็ดเน่าเร็ว) ทำเป็นถุงหรือเย็บเป็นกระทงให้พอดีกับดอกเห็ด เพื่อไม่ให้ดอกเห็ดเคลื่อนไหว ป้องกันการช้ำ หลังจากนั้นใส่ลงถุงพลาสติก เป่าลมให้ถุงพลาสติกพองแล้วใช้หนังยางรัด และบรรจุ ในกล่องโฟมก่อนส่ง ถ้าส่งถึงห้องปฏิบัติการภายในวันเดียวกัน ไม่ต้องแช่เย็น ถ้าส่งเกิน 1 วัน ให้เก็บเห็ดไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 4 – 8 องศาเซลเซียล และควรรักษาความเย็นของเห็ดจนกว่าจะถึงปฏิบัติการ

  5. ส่งตัวอย่างพร้อมใบนำส่งตัวอย่าง ควรมีรายละเอียดบริเวณที่เก็บเห็ด ว่าเห็ดขึ้นในบริเวณใด เช่น บริเวณบ้าน, สนามหญ้า , ในป่าใกล้ต้นไม้ชนิดใด ใกล้จอมปลวกหรือบนชานอ้อย เป็นต้น พร้อมอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย เพื่อใช้ประกอบการตรวจยืนยัน ชนิดและพิษของเห็ด
  6. ส่งตัวอย่างมาที่สำนักระบาดวิทยาในวันและเวลาราชการ พร้อมแจ้งล่วงหน้าทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1779 เพื่อสำนักระบาดวิทยาจะได้ไปรับตัวอย่าง และส่งตัวอย่างไปตรวจที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    สถานที่ส่งตรวจ
    สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ที่ถนนงามวงศ์วาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบอร์โทรศัพท์ 02-5798558, 02-5790147