วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ฟังเสียงหัวใจ หนังสือความเครียดเล่มแรก(เยี่ยมผู้ป่วยTB)


 เมื่อวันจันทร์ ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยวัณโรคตามคำเรียกร้อง ของน้องผู้รับผิดชอบงานวัณโรคที่ รพ.สต. บอกว่าผู้ป่วยมีปัญหา ไม่ยอมรับการรักษา โดยไม่เชื่อว่าตัวเองป่วยเป็นวัณโรค พอออกไปที่ รพ.สต.พร้อมกับพี่นิว ผู้รับผิดชอบงานวัณโรคของโรงพยาบาล(TB Clinic) ได้รับข้อมูลจาก รพ.สต.ว่า "ผู้ป่วยไม่ได้ป้องกันตนเอง ไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย ญาติพี่น้องผู้ป่วยก็ไม่ยอมรับว่าผู้ป่วย"  พี่TB Clinic บอกว่า "พี่ได้พูดมาเยอะแล้ว สำหรับคนไข้คนนี้ เธอพูดก็แล้วกัน"  ฟังความข้างเดียวคงกระไรอยู่  ในฐานะคนนำสาร จำจะต้องนำสารไปส่งผู้ป่วยอีกสักรอบ
         ออกจาก รพ.สต. พร้อมกับน้องๆ อีกสองคน ไปถึงบ้านผู้ป่วย ห่างจาก รพ.สต.ประมาณกิโลกว่าๆ  บริเวณบ้านดูสะอาดสะอ้าน ต่างจากบ้านผู้ป่วยวัณโรคส่วนใหญ่ ผู้ป่วยเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 55 ปี สภาพครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ มีอาชีพหลัก ทำนา สภาพผู้ป่วยดูแข็งแรง วันที่นั่งคุยก็มีแม่ผู้ป่วย อายุซัก 85 ปี ดูผิวพรรณดี และแข็งแรงเหมือนกัน
         เราเริ่มคุย โดยใช้รูปแบบการตกลงบริการแบบมีส่วนร่วม แต่ปรับใช้ เป็นการพูดคุยแบบมีส่วนร่วมโดยเนื้อหายึด หลักของ Health Believe Model  ส่วนการมีส่วนร่วมประยุกต์ใช้เทคนิค ORID Model ส่วนของรายละเอียดคงจะไม่พูดถึงนะครับ จากการพูดคุยถึงได้รับรู้ว่า.......หากเปรียบปัญหาความเครียดของผู้ป่วยเหมือนกองหนังสือที่ซ้อนกันอยู่ 
..... หนังสือเล่มสุดท้ายที่เราเห็นคือการปฏิเสธการรักษา การไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย 
..... ยังมีหนังสืออีกหลายเล่ม ที่วางซ้อนกันอยู่ 
....  หนังสือเล่มใหญ่ คือ ผู้ป่วยมีความเครียดเรื่อง ทำไมตัวเองไม่มีอาการของวัณโรคเลยแล้วถูกวินิจฉัยว่าป่วย 
.... หนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ ทำไมผู้ป่วยกินยารักษาวัณโรคแล้วอาการยิ่งแย่ลง อ่อนเพลีย จากเคยแข็งแรงกลับแย่กว่าเดิมอีก
.... หนังสือเล่มใหญ่หนาที่สุด คือ ผู้ป่วยเป็นคนอัธยาศัยดี มีเพื่อนบ้านมากมาย เคยขายเครื่องสำอาง เคยถูกชมว่าผิวดี ไปไหนมาไหนมีคนทักทายตลอด แต่การป่วยเป็นวัณโรคครั้งนี้ เขาได้สูญเสียสิ่งที่เคยภูมิใจ แม้แต่สามีก็ดูมีท่าทีเหมือนรังเกียจ เพื่อนบ้านหรือใครมาหาก็ต้องบอกให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยก่อน ชีวิตของการป่วยด้วยวัณโรค มันน่ารังเกียจขนาดนี้เลยหรือ
       หากเปรียบความเครียดของผู้ป่วยเหมือนกองหนังสือที่ซ้อนกันอยู่ บางทีหนังสือเล่มบางๆที่เรามองเห็นว่าเล็กน้อย ไม่น่าจะสำคัญเลย อาจทำให้หนังสือทั้งกองพังลงมา เพราะเรามองเห็นหนังสือแค่เล่มสุดท้าย ที่เรามักพูดว่า "แค่เรื่องแค่นี้นะเหรอ"
     จากการพูดคุยแลกเปลี่ยน พอจะได้ช่วยอ่านหนังสือที่ซ้อนกันอยู่ หลายๆเล่ม และพอจะฉีกความหนาของหนังสือแต่ละเล่ม ให้เล่มบางลง  หวังว่าการได้คุยกันคงทำให้ผู้ป่วยได้มีกำลังใจต่อไป
......ก่อนกลับ ผู้ป่วยเอาข้าวสาร มาฝาก ว่าจะไม่รับแล้วหล่ะ แต่กลัวว่าจะทำให้ หังสือมันกลับหนาขึ้นมาอีกครับ เพราะว่าผู้ป่วย สำทับว่า"ถ้าไม่เอาถือวา่ารังเกียจกันนะหมอ" 5555


วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

            นานแล้วไม่ได้เขียนบันทึก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะไม่มีเรื่องเขียน หรือว่าไม่มีเวลาเขียน แต่วันนี้ขอบันทึกไว้สักหน่อย เคยออกเยี่ยมผู้ป่วยวัณโรคแทบทุกคนที่ขึ้นทะเบียนในอำเภอ แต่ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้จะเจอคนที่เคยพบกัน เมื่อ 5 ปีก่อน
            เมื่อประมาณ 5 ปี ที่แล้ว มีชายคนหนึ่งแต่งกายด้วยเสื้อซาฟารีสีกรมท่ามอมๆ ด้อมๆมองๆ ที่ด้านหน้าประตูของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอคำเขื่อนแก้ว ก่อนที่จะถามว่าหมอแฟรงค์ทำงานที่นี่มั้ย ทันทีที่มองเห็นหน้าของผม แววตาที่ลังเล ท้อแท้ ของแกดูมีประกายขึ้นมาทันที แกเล่าว่ามาเฝ้าลูกสาวคลอดลูกที่โรงพยาบาลได้หลายวันแล้ว วันนี้เป็นวันที่หมอให้กลับบ้านได้ แต่กว่าจะได้ออกจากโรงพยาบาลก็เป็นช่วงบ่ายแล้ว ช่วยตามรถประจำทางมารับที ซึ่งรถประจำทางที่เข้าออกหมู่บ้านนี้มีเพียงคันเดียว แดนรถเพียงเที่ยวเดียว ปรากฎว่ารถประจำทางได้กลับไปแล้ว
            เมื่อ20 ปีที่แล้ว บรรจุทำงานครั้งแรก ผมบรรจุทำงานที่สถานีอนามัยทุ่งมน ที่ตำบลนี้เหมือนกับเป็นบ้านเกิดในชีวิตหมออนามัย หากเปรียบเหมือนหนอนผีเสื้อ ตำบลแห่งนี้เองหนอนผีเสื้อตัวนี้ได้ลอกคราบออกมาเป็นผีเสื้อโบยบินอย่างมีความสุขในความเป็นหมออนามัย เย็บแผล เบ็ดเกี่ยวขา เงี่ยงปลาปัก ฉมวกยิงปลาแทงเรื่องจิ๊บๆ งานป้องกันควบคุมโรค งานมวลชน ทีมงานกรรมการหมู่บ้านตุ้มโฮมตรึม!!!  ทุกวันต้องจัดคิวไปกินข้าวเย็นในแต่ละหลังคาเรือน(เวอร์)  ผมนอนที่สถานีอนามัยค่าเวรไม่มี ค่าตอบแทนไม่มีสักอย่าง แต่มีความสุขมาก ปลาตัวใหญ่ๆ อาหารที่อร่อยๆ อาหารแปลกๆที่ชาวบ้านหามาได้จะต้องเรียกหมอไปกินด้วยเสมอ ผมยังจำได้ในบางครั้งที่กลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่จะมีของฝากจากชาวบ้านฝากกลับไปให้ด้วยเสมอ บางครั้งไม่อยู่บ้านพักกลับมาบางทีเจอกล้วยน้ำว้าห้อยไว้ที่บันไดบ้านพักพร้อมจดหมายน้อยหนึ่งฉบับ(เขียนไปยังแอบยิ้มเมื่อคิดถึงวันเก่าๆ) คนในตำบลนี้จึงเหมือนกับญาติของผมทุกคน
              ผู้ป่วยทีผมเจอวันนี้ เป็นผู้หญิงที่ไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลเมื่อ 5 ปีก่อน วันนี้เธอป่วยด้วยวัณโรค จิตเวช ไธรอยด์ สามีแทบจะเรียกว่าทิ้งไปแล้ว นานๆมาดูลูกทีหนึ่ง ทุกวันนี้มีเพียงอยู่กับลูก และ พ่อ ที่ดูแลเธอมาตลอด
              เมื่อ 5 ปีก่อนผมตัดสินใจขับรถมาส่งครอบครัวนี้ เพื่อแลกกับอะไรบางอย่างที่ผมไม่ได้รับมันนับตั้งแต่ย้ายเข้ามาทำงานที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ แล้วสิ่งที่ผมได้รับมันคุ้มค่าจริงๆหลังจากนั้นหนึ่งวันมีคนฝากพริกและมะเขือมาให้....ความรู้สึกเมื่อ 20 ปีที่แล้วผมได้มันกลับมาแม้เพียงชั่วคราวก็ตาม

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตำบลกุดกุงร่วมใจไม่กินปลาดิบ


























วันนี้เป็นวันเสาร์แต่มีภารกิจที่ต้องไปพัฒนาโจทย์งานวิจัยของ สกว. ที่จริงแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเขามากหรอก แต่เคยได้ยินพี่สมัคร พุ่มทอง ผอ.รพ.สต.กุดกุงเล่าให้ฟังว่า ที่กุดกุงมีการตรวจพยาธิใบไม้ตับแล้วเจอว่า พบคนที่มีไข่พยาธิใบไม้ตับในอัตราที่สูงมาก แล้วพอดีได้ข่าวว่าผู้ประสานงานของ สกว. กำลังหาพื้นที่วิจัยพอดี จึงลองเสนอพื้นที่ตำบลกุดกุงเพื่อลองพัฒนาหัวข้อการวิจัยดู ซึ่งผู้ประสานงานของ สกว.ค่อนข้างจะเข้มงวดกับเรื่องที่ว่า เรื่องที่จะวิจัยต้องได้มาจากชุมชนจริงๆ คนในชุมชนต้องอยากทำ อยากเรียนรู้ และเห็นประโยชน์ที่จะทำวิจัย นัดประชุมกันไว้เวลา 10.00 น.ที่ อบต.กุดกุง ผมเข้าไปถึง อบต.กุดกุง ประมาณ 10.15 น.เมื่อไปถึงผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมกันหมดแล้ว (แง่ว) โดยส่วนใหญ่ผู้เข้าประชุม เป็นผู้นำชุมชน สอบต. อสม.ซึ่งต้องขอชื่นชมที่ทั้ง กำนัน นายกองค์การบริหารตำบลกุดกุง และ ผอ.รพสต. อยู่กันพร้อมหน้า เป็นนิมิตหมายอันดีว่างานนี้น่าจะไปด้วยดี





เริ่มประชุมโดยผมเป็นเริ่ม แนะนำทีมที่มา ซึ่งมีพี่เล็ก พนมวรรณ คาดพันโน ผู้ประสานงาน สกว. จังหวัดยโสธร และน้องหนึ่ง ผู้ช่วยผู้ประสานงาน และพูดถึงงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ของ สกว.นิดนึง (ก็ผมไม่ได้เกี่ยวข้องเท่าไหร่555) แล้วส่งต่อให้น้องหนึ่ง ต่อมาน้องหนึ่ง ก็ได้ให้ทีมจากชุมชนแนะนำตัวเพื่อละลายความเครียดและเริ่มเป็นกันเองมากขึ้น





หลังจากจากนั้นกระบวนการพัฒนาโจทย์งานวิจัยก็เริ่มขึ้น จากพี่เล็ก โดยให้ในทีมคิดว่าปัญหาสุขภาพหรือโรคติดต่อ โรคไหนที่มีในชุมชนและเป็นปัญหาสำคัญของชาวบ้านเรา ในที่ประชุมก็คิดกันมารวมแล้วได้ 12 โรคพอดี (โรคโหลๆ) ในจำนวน 12 โรคคิดว่าโรคไหน เป็นปัญหามากที่สุด โดยในที่ประชุมช่วยกันออกความคิดเห็น ในบรรยากาศที่ทุกคนต่างก็กล้าแสดงความคิดเห็น และสนุกสนาน (ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งว่าภาครัฐเราทำอะไรอยู่ รูปแบบการทำงานแบบนี้หายไปไหน ทั้งที่เราพูดทุกครั้งว่าอยากให้มีส่วนร่วม) โดยส่วนใหญ่เห็นพ้องกันไปในเรื่อง พยาธิใบไม้ตับ มะเร็งตับ การกินปลาดิบ




ในการระดมความคิดนี้ รองนายก อบต.คุณวิลัย ชาวป่า บอกว่า"บ้านเราหากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินปลาดิบ ต่อไปจะป่วยกันเยอะ จากการที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ เขาบอกว่าภาคอีสานป่วยเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับอันดับหนึ่งของประเทศ "





กำนันบอกว่า ถ้าป่วยด้วยโรคนี้แล้วมียารักษาอย่างเดียวคือไม้เค็ง(ไม้เผาศพ) ที่รักษามีที่เดียวคือคลินิกปู่ทอง(เมรุเผาศพ)




ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 คุณเวชยันต์ วงศ์ชมพู"บ้านเรามีแหล่งน้ำมาก ปลาก็เลยมาก โอกาสการกินปลาดิบก็เลยมากขึ้น"





นายก อบต. "การกินก้อยปลาส่วนใหญ่ กินเป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะการเอาเยาะ(บ้านปลา โดยเอาไม้มาสุมๆกันไว้ให้ปลามาอยู่ตอนหน้าแล้ง)บ้านเรามีชื่อเสียงในเรื่องปลามาก จนต่างจังหวัดก็มากินปลาที่นี่ล่าสุดยังมีรองผู้ว่าจากจังหวัดแห่งหนึ่งยังมากินก้อยปลาที่นี่ ถ้าญาติพี่น้องมาหากันก็ต้องมีการกินก้อยปลา จนเหมือนเป็นวัฒนธรรมแล้ว"





แล้วที่ประชุมก็ให้ข้อมูลร่วมกันว่า มันเป็นเรื่องสนุกสนาน และมีความสุข ในการกินก้อยปลา โดยคิดว่า กินเหล้าขาวเข้าไปก็ฆ่าพยาธิได้ และ คิดว่าการเอามดแดงมายำใส่ ก็ทำให้พยาธิตาย และ อสม.จันทมณี บอกว่า"ไทบ้านบอกว่า ก้อยปลาดิบ มันแซบหลาย ตายกะช่างมัน"





ในช่วงนี้สังเกตว่าในทีประชุมเริ่มมีความกังวลว่า ถ้าทำโครงการนี้แล้ว จะไม่ได้กินปลาดิบ พี่เล็ก ได้ถามทวนว่า"ถ้ามันแซบ ถ้ามันสนุกขนาดนี้แล้ว เราจะเลิกกินก้อยปลากันจริงๆเหรอ"





อสม.กัญญา บุปผาสังข์ ได้ให้ความเห็นว่า"เราน่าจะทำได้ เพื่อให้รุ่นลูก รุ่นหลาน ได้เลิกกินก้อยปลา เลิกกินปลาดิบ"




มีผู้แสดงความเห็นด้วยในประเด็นนี้ โดย สอบต.จำรัส ศรีมหาพรหม ได้บอกว่า"การกินก้อยปลา บางทีแทบต้องหลบลูกหลานกิน ไม่อยากให้เขาเห็น"




กำนันตำบล ได้ให้ความเห็นว่า"การกินสุกมันก็อร่อยแต่ที่กินดิบๆ เพราะผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่ากันมาว่า การกินดิบๆจะทำให้มีเรี่ยวแรง มีกำลังมากกว่าการกินสุกๆ"




หลังจากพูดคุยกันในเรื่องกินปลาดิบ กินก้อยปลากันอย่างออกรส ออกชาด จนใกล้จะเที่ยง จนได้วัตถุประสงค์ของโครงการว่า เราอยากได้อะไรจากการทำวิจัยครั้งนี้








  • ทำไมคนในชุมชนถึงชอบกินปลาดิบ( เพื่อศึกษาบริบท ปัจจัย ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบ)




  • มีทางเลือกอื่นหรือไม่ที่เป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารแทนก้อยปลา (เพื่อศึกษารายการอาหารในท้องถิ่นที่สามารถทดแทนการบริโภคปลาดิบ"




  • เพื่อศึกษาผลกระทบของการบริโภคปลาดิบต่อครอบครัว และชุมชน




หลังจากที่ได้ข้อมูลที่คิดว่ามั่นใจว่าโครงการนี้เป็นโครงการของชุมชนจริงๆ และชุมชนจะเป็นผู้ดำเนินการและใช้ประโยชน์จากโครงการวิจัยอย่างเต็มที่ ทีมผู้ประสานงานวิจัย จึงได้อำลาพาจากอย่างมีความสุขด้วยเวลาเที่ยงแก่ๆ พร้อมกับรอยยิ้มอย่างมีความมีความสุขของผู้ร่วมประชุม จนลืมหิวน้ำหิวข้าว





วันนี้เป็นวันหยุดที่น่าจะอยู่บ้าน แต่ที่ไปครั้งนี้ผมก็รู้สึกเหมือนกับได้อะไรมากมาย ทั้งที่ทำไปไม่ได้เงินสักบาท แถมเสียเวลา เสียค่าน้ำมันรถไปเองตะหาก คงเหมือนกับทีมวิจัยของกุดกุง ที่มาด้วยหัวใจ พี่สมัคร พุ่มทอง ก็สุดยอดจริงๆไปทั้งๆที่ผมประสานเรื่องการนัดประชุมในบ่ายวันศุกร์ ประสานงานแค่วันเดียวมีคนมาประชุมมากมายขนาดนี้ เป็นทุนของตำบลกุดกุงและคิดว่าน่าจะเป็นแบบนี้แทบทุกที่ เพียงแค่ภาครัฐจะให้โอกาสชุมชนอย่างจริงใจหรือไม่เท่านั้นเอง





ขอบคุณพี่เล็กและน้องหนึ่ง สำหรับข้าวเที่ยง





ขอบคุณพี่สมัคร และทีมงานตำบลกุดกุง ที่คิดทำเรื่องดีๆเรื่องหนึ่งให้กับชุมชน และทำให้ผมมีกำลังใจในการทำงานต่อไป