วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตำบลกุดกุงร่วมใจไม่กินปลาดิบ


























วันนี้เป็นวันเสาร์แต่มีภารกิจที่ต้องไปพัฒนาโจทย์งานวิจัยของ สกว. ที่จริงแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเขามากหรอก แต่เคยได้ยินพี่สมัคร พุ่มทอง ผอ.รพ.สต.กุดกุงเล่าให้ฟังว่า ที่กุดกุงมีการตรวจพยาธิใบไม้ตับแล้วเจอว่า พบคนที่มีไข่พยาธิใบไม้ตับในอัตราที่สูงมาก แล้วพอดีได้ข่าวว่าผู้ประสานงานของ สกว. กำลังหาพื้นที่วิจัยพอดี จึงลองเสนอพื้นที่ตำบลกุดกุงเพื่อลองพัฒนาหัวข้อการวิจัยดู ซึ่งผู้ประสานงานของ สกว.ค่อนข้างจะเข้มงวดกับเรื่องที่ว่า เรื่องที่จะวิจัยต้องได้มาจากชุมชนจริงๆ คนในชุมชนต้องอยากทำ อยากเรียนรู้ และเห็นประโยชน์ที่จะทำวิจัย นัดประชุมกันไว้เวลา 10.00 น.ที่ อบต.กุดกุง ผมเข้าไปถึง อบต.กุดกุง ประมาณ 10.15 น.เมื่อไปถึงผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมกันหมดแล้ว (แง่ว) โดยส่วนใหญ่ผู้เข้าประชุม เป็นผู้นำชุมชน สอบต. อสม.ซึ่งต้องขอชื่นชมที่ทั้ง กำนัน นายกองค์การบริหารตำบลกุดกุง และ ผอ.รพสต. อยู่กันพร้อมหน้า เป็นนิมิตหมายอันดีว่างานนี้น่าจะไปด้วยดี





เริ่มประชุมโดยผมเป็นเริ่ม แนะนำทีมที่มา ซึ่งมีพี่เล็ก พนมวรรณ คาดพันโน ผู้ประสานงาน สกว. จังหวัดยโสธร และน้องหนึ่ง ผู้ช่วยผู้ประสานงาน และพูดถึงงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ของ สกว.นิดนึง (ก็ผมไม่ได้เกี่ยวข้องเท่าไหร่555) แล้วส่งต่อให้น้องหนึ่ง ต่อมาน้องหนึ่ง ก็ได้ให้ทีมจากชุมชนแนะนำตัวเพื่อละลายความเครียดและเริ่มเป็นกันเองมากขึ้น





หลังจากจากนั้นกระบวนการพัฒนาโจทย์งานวิจัยก็เริ่มขึ้น จากพี่เล็ก โดยให้ในทีมคิดว่าปัญหาสุขภาพหรือโรคติดต่อ โรคไหนที่มีในชุมชนและเป็นปัญหาสำคัญของชาวบ้านเรา ในที่ประชุมก็คิดกันมารวมแล้วได้ 12 โรคพอดี (โรคโหลๆ) ในจำนวน 12 โรคคิดว่าโรคไหน เป็นปัญหามากที่สุด โดยในที่ประชุมช่วยกันออกความคิดเห็น ในบรรยากาศที่ทุกคนต่างก็กล้าแสดงความคิดเห็น และสนุกสนาน (ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งว่าภาครัฐเราทำอะไรอยู่ รูปแบบการทำงานแบบนี้หายไปไหน ทั้งที่เราพูดทุกครั้งว่าอยากให้มีส่วนร่วม) โดยส่วนใหญ่เห็นพ้องกันไปในเรื่อง พยาธิใบไม้ตับ มะเร็งตับ การกินปลาดิบ




ในการระดมความคิดนี้ รองนายก อบต.คุณวิลัย ชาวป่า บอกว่า"บ้านเราหากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินปลาดิบ ต่อไปจะป่วยกันเยอะ จากการที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ เขาบอกว่าภาคอีสานป่วยเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับอันดับหนึ่งของประเทศ "





กำนันบอกว่า ถ้าป่วยด้วยโรคนี้แล้วมียารักษาอย่างเดียวคือไม้เค็ง(ไม้เผาศพ) ที่รักษามีที่เดียวคือคลินิกปู่ทอง(เมรุเผาศพ)




ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 คุณเวชยันต์ วงศ์ชมพู"บ้านเรามีแหล่งน้ำมาก ปลาก็เลยมาก โอกาสการกินปลาดิบก็เลยมากขึ้น"





นายก อบต. "การกินก้อยปลาส่วนใหญ่ กินเป็นหมู่คณะ โดยเฉพาะการเอาเยาะ(บ้านปลา โดยเอาไม้มาสุมๆกันไว้ให้ปลามาอยู่ตอนหน้าแล้ง)บ้านเรามีชื่อเสียงในเรื่องปลามาก จนต่างจังหวัดก็มากินปลาที่นี่ล่าสุดยังมีรองผู้ว่าจากจังหวัดแห่งหนึ่งยังมากินก้อยปลาที่นี่ ถ้าญาติพี่น้องมาหากันก็ต้องมีการกินก้อยปลา จนเหมือนเป็นวัฒนธรรมแล้ว"





แล้วที่ประชุมก็ให้ข้อมูลร่วมกันว่า มันเป็นเรื่องสนุกสนาน และมีความสุข ในการกินก้อยปลา โดยคิดว่า กินเหล้าขาวเข้าไปก็ฆ่าพยาธิได้ และ คิดว่าการเอามดแดงมายำใส่ ก็ทำให้พยาธิตาย และ อสม.จันทมณี บอกว่า"ไทบ้านบอกว่า ก้อยปลาดิบ มันแซบหลาย ตายกะช่างมัน"





ในช่วงนี้สังเกตว่าในทีประชุมเริ่มมีความกังวลว่า ถ้าทำโครงการนี้แล้ว จะไม่ได้กินปลาดิบ พี่เล็ก ได้ถามทวนว่า"ถ้ามันแซบ ถ้ามันสนุกขนาดนี้แล้ว เราจะเลิกกินก้อยปลากันจริงๆเหรอ"





อสม.กัญญา บุปผาสังข์ ได้ให้ความเห็นว่า"เราน่าจะทำได้ เพื่อให้รุ่นลูก รุ่นหลาน ได้เลิกกินก้อยปลา เลิกกินปลาดิบ"




มีผู้แสดงความเห็นด้วยในประเด็นนี้ โดย สอบต.จำรัส ศรีมหาพรหม ได้บอกว่า"การกินก้อยปลา บางทีแทบต้องหลบลูกหลานกิน ไม่อยากให้เขาเห็น"




กำนันตำบล ได้ให้ความเห็นว่า"การกินสุกมันก็อร่อยแต่ที่กินดิบๆ เพราะผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่ากันมาว่า การกินดิบๆจะทำให้มีเรี่ยวแรง มีกำลังมากกว่าการกินสุกๆ"




หลังจากพูดคุยกันในเรื่องกินปลาดิบ กินก้อยปลากันอย่างออกรส ออกชาด จนใกล้จะเที่ยง จนได้วัตถุประสงค์ของโครงการว่า เราอยากได้อะไรจากการทำวิจัยครั้งนี้








  • ทำไมคนในชุมชนถึงชอบกินปลาดิบ( เพื่อศึกษาบริบท ปัจจัย ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบ)




  • มีทางเลือกอื่นหรือไม่ที่เป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารแทนก้อยปลา (เพื่อศึกษารายการอาหารในท้องถิ่นที่สามารถทดแทนการบริโภคปลาดิบ"




  • เพื่อศึกษาผลกระทบของการบริโภคปลาดิบต่อครอบครัว และชุมชน




หลังจากที่ได้ข้อมูลที่คิดว่ามั่นใจว่าโครงการนี้เป็นโครงการของชุมชนจริงๆ และชุมชนจะเป็นผู้ดำเนินการและใช้ประโยชน์จากโครงการวิจัยอย่างเต็มที่ ทีมผู้ประสานงานวิจัย จึงได้อำลาพาจากอย่างมีความสุขด้วยเวลาเที่ยงแก่ๆ พร้อมกับรอยยิ้มอย่างมีความมีความสุขของผู้ร่วมประชุม จนลืมหิวน้ำหิวข้าว





วันนี้เป็นวันหยุดที่น่าจะอยู่บ้าน แต่ที่ไปครั้งนี้ผมก็รู้สึกเหมือนกับได้อะไรมากมาย ทั้งที่ทำไปไม่ได้เงินสักบาท แถมเสียเวลา เสียค่าน้ำมันรถไปเองตะหาก คงเหมือนกับทีมวิจัยของกุดกุง ที่มาด้วยหัวใจ พี่สมัคร พุ่มทอง ก็สุดยอดจริงๆไปทั้งๆที่ผมประสานเรื่องการนัดประชุมในบ่ายวันศุกร์ ประสานงานแค่วันเดียวมีคนมาประชุมมากมายขนาดนี้ เป็นทุนของตำบลกุดกุงและคิดว่าน่าจะเป็นแบบนี้แทบทุกที่ เพียงแค่ภาครัฐจะให้โอกาสชุมชนอย่างจริงใจหรือไม่เท่านั้นเอง





ขอบคุณพี่เล็กและน้องหนึ่ง สำหรับข้าวเที่ยง





ขอบคุณพี่สมัคร และทีมงานตำบลกุดกุง ที่คิดทำเรื่องดีๆเรื่องหนึ่งให้กับชุมชน และทำให้ผมมีกำลังใจในการทำงานต่อไป