วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

เครื่องมือเยี่ยมบ้าน (IN-HOME-SSS)

เครื่องมือ (IN-HOME-SSS)
 เครื่องมือในการเยี่ยมบ้านของหมอครอบครัวประจำหมู่บ้าน(1 person 1 area)
กระบวนการเยี่ยมบ้าน
 1. ระยะก่อนเยี่ยมบ้าน เป็นระยะของการวางแผนกำหนดวัตถุประสงค์การเยี่ยม -เตรียมข้อมูลผู้ป่วยและครอบครัว โดยใช้แฟ้มอนามัยครอบครัว OPD Card หรือสรุปการเยี่ยมบ้านในครั้งก่อน -อุปกรณ์ กระเป๋าเยี่ยมบ้าน เครื่องมือที่ควรเตรียมติดตัวไปเยี่ยมบ้าน ใบสั่งยา เบอร์โทรศัพท์ผู้ป่วย เครื่องวัดความดันเลือด หูฟัง ชุดเครื่องมือตรวจหูและตา ปรอทวัดไข้ ไม้กดลิ้น สำลี แอลกอฮอล์ ชุดทำแผล ถุงมือ เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบพกพา แผ่นพับสุขศึกษา ถุงใส่ขยะ เป็นต้น. นอกจากนี้ กล้องถ่ายภาพอาจเป็นอุปกรณ์อีกชิ้นที่ควรพกพาไป เพราะอาจใช้ถ่ายภาพเพื่อติดตามสภาพบาดแผล หรือถ่ายภาพนาทีประทับใจภายในบ้าน ซึ่งอาจใช้เป็นเครื่องมือเตือนความทรงจำให้ผู้ป่วยและญาติรวมทั้งกระชับความสัมพันธัดีต่อกันได้ในภายหลังอีกทั้งเป็นกำลังใจให้ทีมงานเยี่ยมบ้านในวาระต่อๆไป -ยานพาหนะ 
2.ระยะเยี่ยมบ้าน ในขณะเยี่ยมบ้านทีมงานต้องมีทักษะในการสื่อสาร เพื่อสร้างสัมพันธภาพค้นหาปัญหา รู้จักเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้ป่วยและครอบครัว ทักษะเหล่านี้ได้แก่
             2.1 การให้บริการด้านจิตวิทยาสังคม
             2.2 การใช้เครื่องมือทางด้านมนุษยวิทยา เช่น ชีวประวัติผู้ป่วย ผังเครือญาติ ถึงบ้านแล้วทำอะไรดี หลังจากทักทายตามอัธยาศัยแล้ว นอกเหนือจากพุ่งความสนใจไปที่ตัวผู้ป่วย ไม่ได้แต่ไปรักษาแต่โรค ดังนั้นต้องช่างสังเกตและประเมินทุกสิ่งที่พบที่บ้านนั้นๆ หลายคนมีทักษะส่วนตัว แต่หลายคนอาจต้องการแนวทาง ซึ่งมีผู้รวบรวมมาเป็นเครื่องมือ (IN-HOME-SSS) ดังหัวข้อดังต่อไปนี้
I Immobility ประเมินว่าผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมได้มากน้อยเพียงใด
                    1.กิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เช่น ลุกจากที่นอน อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ แต่งตัวเองได้ กินได้ ขับถ่ายสะดวก กลั้นได้หรือไม่
                    2.กิจวัตรอื่นๆ ที่ใช้แรงมากขึ้น เช่น ทำงานบ้าน จ่ายตลาด ทำอาหาร รับโทรศัพท์ จัดยากินเองได้ ล้างรถ ลี้ยงสุนัข เป็นต้น
N Nutrition  ประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการอย่างไร อาหารโปรด วิธีเตรียมอาหาร วิธีเก็บอาหารปริมาณที่กิน นิสัยการกิน ก่อนหรือหลังกินข้าวชอบสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าหรือไม่ เป็นต้น.

H Housing ไม่ใช่ประเมินว่าดีหรือไม่ แต่ประเมินว่าสะภาพบ้านมีลักษณะอย่างไร
                    1.ภายในบ้าน เช่น แออัด โปร่งสบาย สะอาด ดูเป็นส่วนตัว มีรูปแขวนผนังเป็นใครบ้าง มีประกาศนียบัตรหรือโล่ยกย่องเกียรติคุณเรื่องใดบ้างของสมาชิกในบ้าน มีโทรทัศน์เครื่องดนตรี ห้องหนังสือ เลี้ยงสัตว์ภายในบ้านเป็นต้น.
                     2.รอบบ้าน เช่น มีบริเวณหรือไม่ รอบบ้านเป็นอย่างไร รั้วรอบขอบชิด หรือทะลุถึงกันกับเพื่อนบ้าน
                     3.เพื่อนบ้านเป็นใคร ลักษณะอย่างไร ความสัมพันธ์ กับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างไร

O Other people ประเมินว่าภาระบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในบ้านเป็นอย่างไร มีต่อผู้ป่วยอย่างไร ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจะมีใครเป็นตัวแทนที่จะตัดสินใจแทนผู้ป่วยได้ การเยี่ยมบ้านมีข้อได้เปรียบในการพูดคุยเรื่องอนาคตของการดูแลรักษาผู้ป่วยในระยะยาว โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย บ้านเป็นสถานที่ที่แพทย์สามารถคุยกับผู้ป่วยและญาติได้สะดวกและอบอุ่นกว่าในโรงพยาบาล เพราะปราศจากสภาพกดดันที่ จะให้ผู้ป่วยและญาติออกจากโรงพยาบาล ทั้งยังเป็นการสาธิตให้ผู้ป่วยและญาติเห็นสภาพจริงว่าสามารถอยู่บ้านได้อย่างไรบ้างแม้ในนาทีสุดท้าย

M Medications ประเมินว่าจริงๆแล้วผู้ป่วยกินยาอะไรบ้าง กินอย่างไร มีวิธีการจัดยาแต่ละมื้ออย่างไรมียาอื่นอะไรอีกบ้างที่นอกเหนือจากแพทย์ประจำตัวสั่ง มียาสมุนไพร อาหารเสริม ยาหม้อ ยาพระและอะไรอื่นอีกบ้าง ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อห้าม แต่เพื่อให้รู้และประเมินพฤติกรรมการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยรายนั้นๆ

E Examination การตรวจร่างกายและการประเมินว่าผู้ป่วยสามารถทำภารกิจประจำวันได้มากน้อยเพียงใดที่บ้าน จะทำให้เห็นสภาพความเจ็บป่วยที่แท้จริงของผู้ป่วยรายนั้นๆ S Safety ประเมินสภาพความปลอดภัยในบ้าน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและญาติปรับสภาพภายในที่บ้านที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

S Spiritual health ประเมินความเชื่อ ค่านิยมของคนในบ้านจากศาสนวัตถุภายในบ้าน วารสารนิตยสารที่อ่านประจำหรือจากการพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติโดยตรง

S Services ให้ญาติที่ใกล้ชิดอยู่ด้วยในขณะที่หมอไปเยี่ยมบ้านเพื่อให้เข้าใจตรงกันในการวางแผนดูแลผู้ป่วย รวมทั้งเข้าใจบริการดูแลสุขภาพทั้งที่บ้านและโรงพยาบาลว่ามีอะไรบ้าง จะติดต่อได้อย่างไร เมื่อใดหรือมีบริการอื่นใดในละแวกบ้านที่ผู้ป่วยและญาติสามารถใช้บริการอื่นใดได้อีกบ้าง

****ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดระบบที่ยั่งยืน คือ การบันทึก เพื่อให้เกิดการดูแลที่ต่อเนื่องของสหวิชาชีพ
3.ระยะหลังการเยี่ยมบ้าน เป็นระยะหลังการเยี่ยมบ้านได้มาพูดคุยกันเพื่อสรุปปัญหาของผู้ป่วยและครอบครัวที่เยี่ยมแนวทางแก้ปํญหาหรือการติดตามเยี่มบ้านครั้งต่อไปและนำผลที่ได้มาบันทึกลงในรายงานหรือแบบบันทึกการเยี่ยมบ้าน เพื่อประกอบการดูแลต่อเนื่องต่อไป